ชมบทความ "ตลาดต้นไม้ดอดคอม"

Wednesday, July 10, 2013

SMART FARMER กับการจัดการพลังงานทดแทนในฟาร์ม

นโยบายที่ดีในการสร้างเกษตรกรมืออาชีพ (SMART FARMER) เพื่อพัฒนาบ้านเมืองเกษตรกรรม เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีแต่คนทำอาชีพเกษตรกรอีกต่อไป ไม่อยากเห็น

ประเทศเกษตรกรรมที่มีแต่เกษตรกรรมกร ในที่นี้ความหมายของเกษตรกรมืออาชีพ คืออาชีพเกษตรกรนั้นควรเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติในสังคม มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง อยู่ดีกินดี ไม่ด้อยกว่าอาชีพอื่นใดในสังคม ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด
 
 แต่ในปัจจุบันเกษตรกรเป็นอาชีพที่มักถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ฐานะยากจน ไม่พอกินไม่พอใช้ เป็นอาชีพสำหรับคนด้อยการศึกษาโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มักหันหลังให้กับอาชีพเกษตรกรรม ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยทั้ง4 ไม่ว่าอาหาร ไม่ว่ายารักษาโรค ไม่ว่าเครื่องนุ่งห่ม และไม่ว่าที่อยู่อาศัย ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น หรือแม้แต่จะมองว่าเกษตรคืออนาคตของประเทศ หรือเกษตรคืออนาคตของโลกก็ไม่น่าจะผิด เพราะเกษตรเป็นทั้งอาหาร เกษตรเป็นทั้งพลังงานบนดิน เกษตรเป็นทั้งสิ่งแวดล้อม และเกษตรเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นเรามาพัฒนาสร้างเกษตรกรมืออาชีพกันเถอะ
 
 เกษตรกรมืออาชีพต้องมีความรู้ในเรื่องที่ตนทำอาชีพนั้นๆอย่างดี อาจปลูกพืช อาจเลี้ยงสัตว์ อาจเลี้ยงปลา และมุ่งมั่นพัฒนา ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะปลูกพืช ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะทำประมง ต้องมีความรู้เรื่องพันธุ์ ต้องรู้เรื่องการปลูกการดูแลรักษา ต้องรู้เรื่องการเก็บเกี่ยว ต้องรู้เรื่องการแปรรูป ต้องรู้เรื่องการตลาดของผลผลิต ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ๆให้ได้เรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
 
เกษตรกรมืออาชีพต้องทำการเกษตรโดยเน้นให้ได้ผลกำไรสูงสุด ซึ่งการได้กำไรสูงสุดไม่จำเป็นต้องมีผลผลิตสูงสุดเสมอไป เพราะการให้ได้ผลผลิตสูงนั้น จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตเข้าไปด้วย นั่นหมายความว่าเกษตรกรมืออาชีพต้องรู้จักการทำบัญชีฟาร์ม มีการบันทึกต้นทุนการผลิต มีการตั้งราคาขายที่เหมาะสม
 
เกษตรกรมืออาชีพต้องทำการเกษตรยุคใหม่ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพราะในกระบวนการผลิตของแต่ละฟาร์มต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนแทบทั้งสิ้นหากสามารถลดการนำเข้าพลังงานจากภายนอกได้มากเท่าใด ก็จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตลง ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด เช่น การไถนาด้วยควายหรือใช้รถไถพลังงานไบโอดีเซล การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองจากเศษเหลือใช้ในฟาร์มหรือมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งาน เช่น วัวและควาย การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมหรือไบโอแก๊ส การปลูกพืชหมุนเวียนแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาการระบาดของโรคและแมลง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาตลาดของผลผลิตทุกครั้งก่อนตัดสินใจปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์  รวมถึงการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นสหกรณ์ ที่สามารถรวมกันจัดซื้อปัจจัยการผลิต และร่วมกันจัดจำหน่ายผลิตผล เพราะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการขนส่งได้อย่างมาก
    
เกษตรกรมืออาชีพต้องรู้จักการแปรรูปผลผลิตในฟาร์มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตให้มีมากขึ้น ต้องรู้จักการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาพลังงานทดแทนชุมชน เช่น ไบโอดีเซล(จากสบู่ดำ) ไบโอแก๊ส(จากวัชพืชและมูลสัตว์) เอทานอล(จากอ้อยและมันสำปะหลัง) ชีวมวล(จากกระถินยักษ์) พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และที่สำคัญเกษตรกรมืออาชีพต้องทำงานในฟาร์ม ในไร่ ในนา ของตนเองไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เมื่อจำนวนเกษตรกรมืออาชีพสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ 20-25% ย่อมจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่ลดลง เป็นการเพิ่มศักยภาพแข่งขันได้ทางหนึ่ง และเป็นการชดเชยจากภาวะค่าแรงงานที่สูง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


No comments:

Post a Comment