ประเทศที่สามารถทำการปลูกต้นไม้ในสภาวะที่เป็น "ทะเลทราย" นั้น... มีไม่มากครับ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ประเทศอิสราเอลด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนต่อปีจัดอยู่ระหว่าง 1,000 มิลลิเมตร ทางเหนือสุดของประเทศ และต่ำสุดจนถึง 31 มิลลิเมตร ทางใต้สุด นอกจากนี้ในช่วง 4 เดือนที่มีฝนตกตั้งแต่ พ.ย.จนถึง ก.พ. ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีไม่คงที่ นับเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำ จึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ในการหาแหล่งน้ำใหม่ๆอยู่เสมอ ในระหว่างปี พ.ศ. 2503-2512 อิสราเอลจึงต้องทำทุกวิถีทาง ที่จะผลิตน้ำให้พอใช้ตามความต้องการ ทั้งการสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ส่งน้ำจากเหนือลงมาทางภาคใต้ที่แห้งแล้ง รวมทั้งการทำฝนเทียม การนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และการกลั่นน้ำจืดจากทะเล
ปัญหา “น้ำ” ในอิสราเอลจัดเป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค รวมทั้งทำการเกษตรได้ด้วย การเสาะแสวงแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำใต้ดิน น้ำเสีย และน้ำทะเล ประเทศนี้นำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า ทุ่มเทกำลังสมองเพื่อให้น้ำสะอาดบริโภคได้อย่างสะดวกใจสบายกาย บริษัทไอดีอี เทคโนโลยี (IDE technologies Ltd.) อยู่ในแถบเอลัต ด้านใต้ของอิสราเอลซึ่งแห้งแล้ง ถือว่าเป็นบริษัทที่มีระบบเทคโนโลยีแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ทำให้ได้ราคาน้ำประปาออกมาด้วยต้นทุนถูกสุดในโลก คือ การผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (1 ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ1,000 ลิตร) ใช้เงิน 0.53 ดอลลาร์สหรัฐ
การผันน้ำทะเลเพื่อมาสกัดเกลือด้วยการกรองออก ของบริษัทแห่งนี้มาจากทะเลสาบกาลิลี่ ประสิทธิภาพของโรงงานมีกำลังการผลิต 330,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผลิตออกมาได้ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ระบบการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลยังมีเทคโนโลยีที่รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ไฟ 4 กิโลวัตต์ต่อการผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ของกระบวนการผลิตน้ำทั้งหมด บริษัทแห่งนี้ตั้งมา 40 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้เข้าไปติดตั้งระบบแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมากกว่า 35 โรงงานใน 40 ประเทศครับ
แม้ทรัพยากรน้ำในประเทศอิสราเอลจะมีจำกัด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของมนุษย์ ทำให้ประเทศอิสราเอลสามารถทำการเพาะปลูกได้แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทราย ไว้คราวต่อๆ ไปเราจะลองมาเจาะลึกแนวทางการจัดการน้ำที่มีน้อยให้ได้ประโยชน์สูงสุดกันต่อไปนะครับ
(ไอเดียเกษตรฯ)