ชมบทความ "ตลาดต้นไม้ดอดคอม"

Friday, August 23, 2013

คุยกันสบายๆ กับไอเดียเกษตรฯ

วันนี้ผมกำลังนั่งปั่นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการเกษตรอย่างสนุกสนานอยู่... ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีผมได้มีโอกาสเขียนหนังสือ "ธุรกิจเกษตร รวยได้ไม่ยาก" ทำให้มีเพื่อนๆ หลายท่านเมล์มาพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเกษตรของคนรุ่นใหม่ที่อยากไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร ... ยังไงผมก็ยังคงเป็นกำลังใจให้กับคนที่อยากไปใช้ชีวิตทำการเกษตร ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง... และเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรให้ "ยั่งยืน" และรับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันนะครับ...

เป็นกำลังใจให้คนไทยหัวใจเกษตรทุกๆ ท่านครับ...
ใครมีไอเดียเกษตรดีๆ หรืออยากแลกเปลี่ยนพูดคุยกันสบายๆ ก็ฝากข้อความไว้ได้นะครับ

(นายแว่นธรรมดา)


Tuesday, August 13, 2013

"การจัดการน้ำในทะเลทราย"

ประเทศที่สามารถทำการปลูกต้นไม้ในสภาวะที่เป็น "ทะเลทราย" นั้น... มีไม่มากครับ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ประเทศอิสราเอลด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนต่อปีจัดอยู่ระหว่าง 1,000 มิลลิเมตร ทางเหนือสุดของประเทศ และต่ำสุดจนถึง 31 มิลลิเมตร ทางใต้สุด นอกจากนี้ในช่วง 4 เดือนที่มีฝนตกตั้งแต่ พ.ย.จนถึง ก.พ. ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีไม่คงที่ นับเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำ จึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ในการหาแหล่งน้ำใหม่ๆอยู่เสมอ ในระหว่างปี พ.ศ. 2503-2512 อิสราเอลจึงต้องทำทุกวิถีทาง ที่จะผลิตน้ำให้พอใช้ตามความต้องการ ทั้งการสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ส่งน้ำจากเหนือลงมาทางภาคใต้ที่แห้งแล้ง รวมทั้งการทำฝนเทียม การนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และการกลั่นน้ำจืดจากทะเล

ปัญหา “น้ำ” ในอิสราเอลจัดเป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค รวมทั้งทำการเกษตรได้ด้วย การเสาะแสวงแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำใต้ดิน น้ำเสีย และน้ำทะเล ประเทศนี้นำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า ทุ่มเทกำลังสมองเพื่อให้น้ำสะอาดบริโภคได้อย่างสะดวกใจสบายกาย บริษัทไอดีอี เทคโนโลยี (IDE technologies Ltd.) อยู่ในแถบเอลัต ด้านใต้ของอิสราเอลซึ่งแห้งแล้ง ถือว่าเป็นบริษัทที่มีระบบเทคโนโลยีแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ทำให้ได้ราคาน้ำประปาออกมาด้วยต้นทุนถูกสุดในโลก คือ การผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (1 ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ1,000 ลิตร) ใช้เงิน 0.53 ดอลลาร์สหรัฐ

การผันน้ำทะเลเพื่อมาสกัดเกลือด้วยการกรองออก ของบริษัทแห่งนี้มาจากทะเลสาบกาลิลี่ ประสิทธิภาพของโรงงานมีกำลังการผลิต 330,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผลิตออกมาได้ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ระบบการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลยังมีเทคโนโลยีที่รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ไฟ 4 กิโลวัตต์ต่อการผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ของกระบวนการผลิตน้ำทั้งหมด บริษัทแห่งนี้ตั้งมา 40 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้เข้าไปติดตั้งระบบแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมากกว่า 35 โรงงานใน 40 ประเทศครับ

แม้ทรัพยากรน้ำในประเทศอิสราเอลจะมีจำกัด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของมนุษย์ ทำให้ประเทศอิสราเอลสามารถทำการเพาะปลูกได้แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทราย ไว้คราวต่อๆ ไปเราจะลองมาเจาะลึกแนวทางการจัดการน้ำที่มีน้อยให้ได้ประโยชน์สูงสุดกันต่อไปนะครับ

(ไอเดียเกษตรฯ)


Saturday, July 13, 2013

การประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้ในฟาร์มเกษตรยุคใหม่ Smart Farm

เกษตรกรรมในประเทศไทยยังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะในมิติของผลิตภาพ (Productivity) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงและรายได้เกษตรกรมีอัตราเฉลี่ยต่ำเนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมทั้งความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาดังกล่าวสะท้อนว่าอาชีพเกษตรกรยังขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและโอบอุ้มเกษตรกร แนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” จึงเป็นกลไกส าคัญในการตอบโจทย์การพัฒนาดังกล่าวครับ

แนวคิดหลักของสมาร์ทฟาร์มคือการใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาทั้งห่วงโซ่อุปทาน สินค้าเกษตรเพื่อยกระดับผลิตภาพ มาตรฐานสินค้า และลดต้นทุน โดยการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้านได้แก่

1) ลดต้นทุน
2) เพิ่มคุณภาพการผลิตและมาตรฐานสินค้า
3) ลดความเสี่ยงจากศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ และ
4) การจัดการและส่งผ่านความรู้

แนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” หมายถึงเกษตรกรที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถวางแผนโดยรู้ถึงอุปสงค์ตลาดและเตรียมการผลิตให้สอดคล้อง รวมทั้งมีความสามารถในเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและในการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว โดยการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล ตลอดจนรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร

แนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนคือ การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ผ่านวิธีการพัฒนาซึ่งมุ่งเน้นไปที่ตัวเกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถน าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตและระบบบริหารจัดการครับ

สำหรับในส่วนของไอเดียเกษตรที่เชื่อมโยงกับสมาร์ทฟาร์ม จะเกี่ยวข้องกับ...

ประการที่หนึ่ง... การบริหารจัดการฐานข้อมูลการเกษตร โดยจะมีโครงการที่เชื่อมโยงเครือข่ายการเกษตร ตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตผลผลิตทางการเกษตร ไปจนถึงแหล่งขาย ที่เน้นเฉพาะการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์

ประการที่สอง... การจัดการพลังงานทดแทนในฟาร์มเกษตร โดยจะนำของเหลือใช้มาสร้างเป็นพลังงานทดแทน เช่น บ่อหมักก๊าซชีวภาพ นำมาใช้ลดความสิ้นเปลือง

ประการที่สาม... การจัดการน้ำใช้ในแปลงเกษตรให้ประหยัดที่สุด เหมาะสมที่สุด

ประการสุดท้าย... การคำนวนจุดคุ้มทุน และออกแบบฟาร์มเกษตร เพื่อป้องการการลงทุนทำเกษตรแล้วขาดทุนครับ

หากเพื่อนๆ สนใจโครงการ "สมาร์ทฟาร์ม" ลองเข้ามาติชม พูดคุยกันได้นะครับ (ใส่ข้อความในคอมเม้นท์ได้เลย) หรือจะเข้าไปคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/GreenIdeaByNaiwaenTammada เป็นเพจเกี่ยวกับไอเดียการเกษตรโดยเฉพาะครับ


Thursday, July 11, 2013

ความหมายของ Smart Farmer

Smart Farmer หมายถึง บุคคลที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกร มีความรอบรู้ในระบบการผลิตด้านการเกษตรแต่ละสาขา มีความสามารถในการวิเคราะห์ เชื่อมโยงและบริหารจัดการการผลิตและ การตลาด โดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค สังคมและ สิ่งแวดล้อม

Existing Smart Farmer หมายถึง เกษตรกรที่เป็น Smart Farmer อยู่แล้ว เนื่องจากผลจากการคัดกรองสามารถผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ที่ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

Developing Smart Farmer หมายถึง เกษตรกรที่ยังไม่เป็น Smart Farmer เนื่องจากผลจากการคัดกรองยังไม่สามารถผ่านคุณสมบัติทั้งด้านรายได้ที่ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และผ่านคุณสมบัติพื้นฐานไม่ครบทั้ง 6 ข้อ ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติมตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละราย

Smart Farmer ต้นแบบ หมายถึง เกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาเป็น Existing Smart Farmer แล้ว และผ่านคุณสมบัติของ Smart Farmer ต้นแบบในแต่ละสาขา จำนวน 10 สาขาหลัก ได้แก่ ข้าว ปาล์ม น้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ประมง ปศุสัตว์ เกษตรผสมผสาน Young Smart Farmer และสาขาอื่น ๆ มีความโดดเด่นในการทำการเกษตรในสาขานั้นของแต่ละพื้นที่ และสามารถเป็นต้นแบบและเป็นบทเรียนให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้

Smart Officer หมายถึง บุคลากรของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปฏิบัติงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็น Smart Officer ที่มีความรักเกษตรกรเหมือนญาติ มีความรอบรู้ทางวิชาการและนโยบาย ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร มุ่งนำเกษตรกรสู่ Green Economy และ Zero waste agriculture มีความภาคภูมิใจในองค์กรและความเป็นข้าราชการ

Smart Officer ต้นแบบ หมายถึง บุคลากรที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็น Smart Officer แล้ว และผ่านคุณสมบัติของ Smart Officer ต้นแบบที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะทำงานระดับกรมและ คณะทำงานระดับจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเกษตรในแต่ละสาขา มีประสบการณ์ในการทำงานมีผลงานหรือการปฏิบัติราชการเป็นที่ประจักษ์หรือได้รับการยอมรับในหน่วยงาน

เกษตรผสมผสาน (Integrated Farm) หมายถึง การทำกิจกรรมการเกษตรหลายๆ อย่างร่วมกันในฟาร์ม และสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจเป็นพืชกับพืช พืชกับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ หรือการเลี้ยงสัตว์กับประมง เป็นต้น

เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) หมายถึง ผู้ที่มีความสนใจหรือประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ไม่จำกัดเพศ อายุระหว่าง 17-45 ปี จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป และเป็น Smart Farmer เนื่องจากผลจากการคัดกรองสามารถผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ที่ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี


ตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

ในประเทศไทย ตลาดเกษตรอินทรีย์น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2533/34 โดยกระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการบริโภค "อาหารเพื่อสุขภาพ" ที่ผู้บริโภคตื่นตัวเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของการรักษาสุขภาพและการบริโภค อาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ จนทำให้ "ธุรกิจอาหารสุขภาพ" เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ได้เริ่มเปิดตัวขึ้น โดยร้านค้าแรกๆ ที่เปิดดำเนินการ คือ ร้านกรีนการ์เดน ในช่วงหลังจากนั้น คือระหว่างปี พ.ศ. 2535-40 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของ ร้านสุขภาพ ประมาณว่า มีร้านค้าขนาดเล็กที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 100 ร้าน

แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการในขณะนั้นมีนโยบายในการส่งเสริม "อาหารปลอดภัย" (เช่น ผักอนามัย ผักปลอดภัยจากสารพิษ) ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนระหว่างความแตกต่างของผลผลิตอาหารปลอดภัย กับเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศมีการเติบโตได้ค่อนข้างช้า ผนวกกับการวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2541 ส่งผลให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ประสบกับภาวะชงักงันไประยะหนึ่ง

ตลาดเกษตร อินทรีย์ในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2546 เมื่อมีการจัดประชุมนานาชาติเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization - FAO) โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินและกรีนเนทเป็นเจ้าภาพหลัก การมีกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศในครั้งนั้นกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ทั้งในการผลิต การบริโภค และการผลักดันนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้มีการฟื้นตัวของตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการขยาย ตัวของตลาดเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น อาทิเช่น

การใช้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะความแตกต่างรหะว่างผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ กับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยได้สะดวกมากขึ้น
มีผู้ประกอบการค้าปลีกเฉพาะทาง ที่มีนโยบายการตลาดเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เช่น ร้านเลมอนฟาร์ม
ผู้ประการค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรด ได้เริ่มเห็นแนวโน้มทิศทางของตลาดเกษตรอินทรีย์ จึงได้เริ่มจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์กันเพิ่่มขึ้น เช่น ห้าง Tops Supermarket, Carrefour, Foodland, Emporium และ Siam Paragon

กรีนเนท/มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ประมาณการว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 น่าจะมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท

รูปแบบของการตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

สามารถจำแนกได้เป็น 4 รูปแบบดังนี้

การตลาดระบบสมาชิก

เป็น รูปแบบการตลาดที่เก่าแก่ที่สุดของขบวนการเกษตรอินทรีย์ ที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น ระบบ TEIKEI ในประเทศญี่ปุ่น หรือระบบ Community Support Agriculture (CSA) และระบบ BOX ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระบบตลาดนี้มีหลักการพื้นฐานว่า ผู้บริโภคตกลงกับเกษตรกรผู้ผลิต ในการซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตได้ตามฤดูกาล โดยผู้บริโภคจะชำระเงินล่วงหน้าให้กับเกษตรกร หลังจากเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะถูกจัดส่งไป ณ จุดกระจายย่อยตามที่ตกลง แล้วสมาชิกผู้บริโภคที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงจะเป็นผู้มารับผลผลิตด้วยตนเอง การตลาดระบบนี้ เกษตรกรจะมีหลักประกันทาง เศรษฐกิจ และมีโอกาสในการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคเองก็สามารถไป เยี่ยมเยือนฟาร์มเกษตรกร เพื่อดูการผลิต หรือช่วยเกษตรกรทำงานในฟาร์มก็ได้

การตลาดในระบบนี้มีผลดี ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและ ผู้บริโภค แต่ข้อจำกัดก็คือ เกษตรกรต้องมีฟาร์มที่อยู่ไม่ห่างจากเมืองใหญ่มากนัก และจำเป็นต้องมีรถยนต์สำหรับใช้ในการขนส่งเอง นอกจากนี้ การตลาดระบบสมาชิกใช้ได้กับฟาร์มที่ปลูกผักเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก (แต่ก็อาจมีผลผลิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ข้าว ไม้ผล ไข่ไก่) ในขณะที่เกษตรกรอินทรีย์ที่ผลิตข้าว ธัญพืช หรืออาหารแปรรูป จะไม่สามารถใช้การตลาดในระบบนี้ได้

ในประเทศไทย มีกลุ่มผู้ผลิตไม่กี่กลุ่มที่จัดการตลาดในระบบนี้ เช่น ชมรมผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ สุพรรณบุรี กลุ่มเยาวชนเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่

ตลาดนัด

ตลาดนัดส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องถิ่นหรือหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด โดยส่วนมากมักจัดในสถานที่ที่มีผู้บริโภคอยู่หนาแน่น เช่น โรงพยาบาล ในเขตสถานที่ราชการ หรืออาจเป็นที่ว่าง ที่ผู้บริโภคสะดวกในการมาหาซื้อผลผลิต ตลาดนัดนี้มักจะเปิดเฉพาะวันที่แน่นอน แต่ไม่เปิดทุกวัน เช่น ทุกวันศุกร์ หรือวันเสาร์ โดยมากจะเปิดขายเพียงครึ่งวัน หรืออาจนานทั้งวันเลยก็ได้ โดยผู้ผลิตต้องมีมาจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อจะได้มีผลผลิตที่หลากหลายมาจำหน่าย

ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่น่าสนใจ คือ ที่ กาดนัดเกษตรอินทรีย์ ที่ตลาดเจเจ เชียงใหม่, ตลาดเขียว สุรินทร์, ตลาดเขียว ยโสธร เป็นต้น

การตลาดช่องทางเฉพาะ

เป็นการตลาดที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่มีนโยบายในด้านเกษตรอินทรีย์ อาหารสุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น ร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเกษตรอินทรีย์ การตลาดในลักษณะนี้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าการตลาดระบบสมาชิก และมีผลผลิตที่หลากหลายจากเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเฉพาะทาง รวมทั้งอาจมีการแปรรู ผลิตภัณฑ์แบบง่ายๆ มากกว่าด้วย

ตัวอย่างของการตลาดเฉพาะทางในประเทศไทย คือ ร้านนาวิลิต, ร้านเลมอนฟาร์ม, ร้านไทสบาย เป็นต้น

การตลาดทั่วไป

ในหลายประเทศที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ได้พัฒนาไประดับหนึ่ง จะพบว่าช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จะขยายไปสู่ระบบตลาดทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโมเดิร์นเทรด ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์เริ่มขยายตัวชัดเจน ผู้ประการค้าปลีกในตลาดทั่วไปย่อมเห็นโอกาสในทางการค้า และปรับตัวเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาด และสร้างภาพพจน์ให้กับหน่วยงานของตน การเข้ามาของตลาดประเภทนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันกันในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการริเริ่มหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งจากภายในประเทศหรือต่างประเทศ รวมไปถึงการแข่งขันทางราคาด้วย

ในประเทศไทย ซุเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าออร์แกนิคได้แก่ Tops Supermarket, Emporium, Villa Market, Foodland และ Siam Paragon เป็นต้น

[จากบทความ "ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทย" ในเว็บไซต์กรีนเนท]


Wednesday, July 10, 2013

SMART FARMER กับการจัดการพลังงานทดแทนในฟาร์ม

นโยบายที่ดีในการสร้างเกษตรกรมืออาชีพ (SMART FARMER) เพื่อพัฒนาบ้านเมืองเกษตรกรรม เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีแต่คนทำอาชีพเกษตรกรอีกต่อไป ไม่อยากเห็น

ประเทศเกษตรกรรมที่มีแต่เกษตรกรรมกร ในที่นี้ความหมายของเกษตรกรมืออาชีพ คืออาชีพเกษตรกรนั้นควรเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติในสังคม มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง อยู่ดีกินดี ไม่ด้อยกว่าอาชีพอื่นใดในสังคม ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด
 
 แต่ในปัจจุบันเกษตรกรเป็นอาชีพที่มักถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ฐานะยากจน ไม่พอกินไม่พอใช้ เป็นอาชีพสำหรับคนด้อยการศึกษาโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มักหันหลังให้กับอาชีพเกษตรกรรม ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยทั้ง4 ไม่ว่าอาหาร ไม่ว่ายารักษาโรค ไม่ว่าเครื่องนุ่งห่ม และไม่ว่าที่อยู่อาศัย ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น หรือแม้แต่จะมองว่าเกษตรคืออนาคตของประเทศ หรือเกษตรคืออนาคตของโลกก็ไม่น่าจะผิด เพราะเกษตรเป็นทั้งอาหาร เกษตรเป็นทั้งพลังงานบนดิน เกษตรเป็นทั้งสิ่งแวดล้อม และเกษตรเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นเรามาพัฒนาสร้างเกษตรกรมืออาชีพกันเถอะ
 
 เกษตรกรมืออาชีพต้องมีความรู้ในเรื่องที่ตนทำอาชีพนั้นๆอย่างดี อาจปลูกพืช อาจเลี้ยงสัตว์ อาจเลี้ยงปลา และมุ่งมั่นพัฒนา ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะปลูกพืช ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะทำประมง ต้องมีความรู้เรื่องพันธุ์ ต้องรู้เรื่องการปลูกการดูแลรักษา ต้องรู้เรื่องการเก็บเกี่ยว ต้องรู้เรื่องการแปรรูป ต้องรู้เรื่องการตลาดของผลผลิต ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ๆให้ได้เรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
 
เกษตรกรมืออาชีพต้องทำการเกษตรโดยเน้นให้ได้ผลกำไรสูงสุด ซึ่งการได้กำไรสูงสุดไม่จำเป็นต้องมีผลผลิตสูงสุดเสมอไป เพราะการให้ได้ผลผลิตสูงนั้น จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตเข้าไปด้วย นั่นหมายความว่าเกษตรกรมืออาชีพต้องรู้จักการทำบัญชีฟาร์ม มีการบันทึกต้นทุนการผลิต มีการตั้งราคาขายที่เหมาะสม
 
เกษตรกรมืออาชีพต้องทำการเกษตรยุคใหม่ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพราะในกระบวนการผลิตของแต่ละฟาร์มต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนแทบทั้งสิ้นหากสามารถลดการนำเข้าพลังงานจากภายนอกได้มากเท่าใด ก็จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตลง ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด เช่น การไถนาด้วยควายหรือใช้รถไถพลังงานไบโอดีเซล การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองจากเศษเหลือใช้ในฟาร์มหรือมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งาน เช่น วัวและควาย การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมหรือไบโอแก๊ส การปลูกพืชหมุนเวียนแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาการระบาดของโรคและแมลง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาตลาดของผลผลิตทุกครั้งก่อนตัดสินใจปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์  รวมถึงการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นสหกรณ์ ที่สามารถรวมกันจัดซื้อปัจจัยการผลิต และร่วมกันจัดจำหน่ายผลิตผล เพราะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการขนส่งได้อย่างมาก
    
เกษตรกรมืออาชีพต้องรู้จักการแปรรูปผลผลิตในฟาร์มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตให้มีมากขึ้น ต้องรู้จักการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาพลังงานทดแทนชุมชน เช่น ไบโอดีเซล(จากสบู่ดำ) ไบโอแก๊ส(จากวัชพืชและมูลสัตว์) เอทานอล(จากอ้อยและมันสำปะหลัง) ชีวมวล(จากกระถินยักษ์) พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และที่สำคัญเกษตรกรมืออาชีพต้องทำงานในฟาร์ม ในไร่ ในนา ของตนเองไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เมื่อจำนวนเกษตรกรมืออาชีพสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ 20-25% ย่อมจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่ลดลง เป็นการเพิ่มศักยภาพแข่งขันได้ทางหนึ่ง และเป็นการชดเชยจากภาวะค่าแรงงานที่สูง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


Tuesday, July 9, 2013

เกษตรสวนผสมคืออะไร

การทำเกษตรสวนผสม คือ การปลูกพืชผล หลายๆ ประเภทในพื้นที่เดียวกัน เพื่อป้องกันควาเสี่ยงจากการปลูกพืชเพียงประเภทเดียว หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ข้อดีของการทำเกษตรสวนผสม เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็คือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องการผลผลิตสูงๆ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หรือดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ภัยธรรมชาติ ก็จะสร้างความเสียหายเกือบทั้งหมด


ส่วนการปลูกพืชแบบเกษตรสวนผสม หากเกิดความเสียหายกับพืชผลบางส่วน ก็จะมีส่วนอื่นๆ ทดแทนได้ นอกจากนั้นแนวคิดของการทำเกษตรสวนผสม ยังส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาได้มากขึ้นไปอีกครับ


แนวคิดเริ่มต้นของการทำเกษตรแบบพอเพียง

แนวคิดเริ่มต้นของการทำเกษตรแบบพอเพียง เน้นถึงการผลิตที่พึ่งพาตนเอง สร้างความเข็มแข็งของตนเอง ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในพื้นที่ของตนเอง เริ่มต้นจากการ...  "อยู่ดี กินดี" ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นเรื่องของการจัดการพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน สัดส่วนการใช้พื้นที่ทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ตัวเลขง่ายต่อการจดจำในพื้นที่ 15 ไร่ ดังนี้ 30:30:30:10 (พื้นที่ทำนา สระน้ำ พื้นที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน และที่อยู่อาศัย)

1) สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร (ประมาณ 30% ของพื้นที่)

2) นาข้าว 5 ไร่ (ประมาณ 30% ของพื้นที่)

3) พื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก 5 ไร่ (ประมาณ 30% ของพื้นที่)

4) ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ 2 ไร่ (ประมาณ 30% ของพื้นที่)

พื้นที่ ส่วนที่หนึ่ง

คือ ข้าว คือ พื้นที่ทำนาในการปลูกข้าวเพื่อการบริโภค ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับครอบครัว ในระดับประเทศถือได้ว่าสามารถนำเงินตราสู่ประเทศอย่างมากมายในแต่ละปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ข้าวเป็นวัฒนธรรม และวิธีชีวิตของคนไทยในแง่ของงานบุญงานประเพณีต่าง ๆ และข้าวเป็นพืชที่ปลูกไว้สำหรับคนไทยทั้งประเทศเพื่อการบริโภค ในระดับครอบครัว ปลูกไว้บริโภคและหากผลผลิตเหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้ครับ

อันที่จริงแล้วข้าวยังแสดงถึงฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรและทรัพย์สินในแต่ละครอบครัว ข้าวเป็นสินค้าที่เกษตรกรสามารถเก็บไว้ได้นาน ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าต้องการบริโภคเมื่อไร ต้องการเปลี่ยนจากผลผลิต (ข้าวเปลือก) เป็นเงินตราไว้สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยทั่วไป คนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ยคนละ 200 กิโลกรัม ข้าวเปลือกต่อ ปี เกษตรกรมีครอบครัวละ 3-4 คน ดังนั้นควรปลูกข้าว 5 ไร่ ผลผลิตประมาณ 30 ถัง ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี


พื้นที่ ส่วนที่สอง

คือ สระน้ำ สระน้ำในไร่นา มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นหากเกษตรกรมีสระน้ำก็เปรียบเสมือนมีตุ่มเก็บกักน้ำในฤดูฝนนะครับ โดยจะช่วยป้องกันน้ำไหลหลากท่วมไร่นาของเกษตรกร ตลอดจนช่วยมิให้น้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำลำคลอง สามารถนำน้ำจากสระน้ำมาใช้ในฤดูฝนกรณีเกิดขาดแคลนน้ำหรือฝนทิ้งช่วง สำหรับฤดูแล้ง

หากมีน้ำในสระเหลือสามารถนำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การที่เกษตรกรมีสระน้ำในไร่นา ยังแสดงถึงการมีหลักประกันความเสี่ยงในการผลิตทางการเกษตร ถ้าเกิดการขาดแคลนน้ำขึ้นในการเพาะปลูก นอกจากนี้ สระน้ำยังเป็นทรัพยากรในการสนับสนุนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในไร่นา ให้ความชุ่มชื้น และสร้างระบบนิเวศเกษตรที่เหมาะสมในบริเวณพื้นที่ขอบสระน้ำ การคำนวณว่าต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการเพราะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ และบนสระน้ำอาจสร้างเล้าไก่ เล้าหมูไว้ด้วย เพราะฉะนั้นพื้นที่ 10 ไร่ ต้องใช้น้ำอย่างน้อย 10,000 ลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ส่วนที่สาม

คือ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ไว้เพราะปลูกพืชแบผสมผสานทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นแหล่งอาหาร ไม้ใช้สอยและเพิ่มรายได้ การปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดจะช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจน ช่วยกระจายความเสี่ยงจากความแปรปรวน ของระบบตลาดและภัยทางธรรมชาติ การปลูกพืชผสมผสานยังสามารถช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นา และตัดวงจรศัตรูพืชบางชนิดได้อีกด้วย

พื้นที่ส่วนที่สี่

คือ ที่อยู่อาศัย เป็นที่อยู่อาศัยหรือบ้านไว้ดูแลเรือกสวนไร่นา และบริเวณบ้าน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น มีไม้ผลหลังบ้านไว้บริโภคปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร นำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก เพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างคุณค่าอาหารและโภชนาการ ตลอดจนเสริมรายได้

นอกจากนี้มูลสัตว์ยังเป็นปุ๋ยคอก สำหรับพืชในลักษณะเกษตรผสมผสาน มีการหมุนเวียนทรัพยากรในไร่นาให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้ การจัดการพื้นที่ส่วนที่สี่ให้มีที่อยู่อาศัยนั้นยังหมายถึง การสร้างจิตสำนึก และนิสัยให้มีความผูกพันธ์กับอาชีพการเกษตรของตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยแอบอิงกับธรรมชาติ ความร่มรื่นในสวนเกษตร อากาศบริสุทธิ์ที่แตกต่างกับสังคมเมือง

นอกจากนั้นยังสามารถใช้ประโยชน์จากบริเวณบ้านและที่อยู่อาศัย มีเวลามากพอในการทำการเกษตร ดูแลเรือกสวนไร่นาของตนเอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตพื้นฐานอย่างเพียงพอ ได้อาหารจากพืช สัตว์ และประมง มียารักษาโรคจากพืชธรรมชาติและพืชสมุนไพร มีผลไม้ไว้บริโภค และมีไม้ใช้สอยในครอบครัวได้อีกด้วยครับ

รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้จากหนังสือ "ธุรกิจเกษตร รวยได้ ไม่ยาก" ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศนะครับ